Education

องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบไฮสโคป

High Scope

การจัดการเรียนการสอนแบบ High scope ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะเป็นอย่างมากสำหรับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัย ที่กำลังต้องการได้รับการเอาใจใส่และการปลูกฝังรวมถึงการปูพื้นความรู้การตัดสินใจการรับรู้ต่างๆในช่วงวัยนี้นั่นเองดังนั้นแนวทางการเรียนรู้แบบไฮสโคปจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากสำนักงานการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ซึ่งในส่วนของการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปจะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กลงมือทำผ่านกิจกรรมต่างๆและจุดเด่นที่เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญในการเรียนรู้รูปแบบนี้ทำให้แนวการสอนแตกต่างออกไปจากการสอนแบบอื่นๆ และองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนแบบไฮสโคปประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมีดังนี้

  • การเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นผู้ริเริ่มในการเลือกกิจกรรมและตัดสินใจในการลงมือทำรวมไปถึงการใช้เครื่องมือต่างๆตามความถนัดและความสนใจของตัวเองวิธีการนี้จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบของการ คิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ได้มากกว่าการได้รับความรู้จากการบอกต่อของผู้ใหญ่
  • การจัดเตรียมสื่อและวัสดุอุปกรณ์ในห้องเรียนให้มีความหลากหลายและสอดคล้องเหมาะสมกับช่วงอายุของเด็กเพื่อให้เด็กแต่ละคนที่มีความสนใจในสิ่งต่างๆแตกต่างกันนั้นสามารถเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ตัวเองสนใจได้อย่างเหมาะสม
  • พื้นที่ในห้องเรียนจะต้องมีเพียงพอต่อการทำกิจกรรมของเด็กไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมเดี่ยวหรือการทำกิจกรรมกลุ่ม ทั้งนี้ยังต้องมีการจัดมุมประสบการณ์ต่างๆและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นและกิจกรรมผ่านบทบาทสมมุติในมุมประสบการณ์แบบต่างๆสิ่งสำคัญนอกเหนือจากพื้นที่แล้วยังต้องมีการจัดสรรเวลาในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันและในแต่ละช่วงเวลาให้เพียงพอไม่ควรเป็นช่วงเวลาที่มากหรือน้อยจนเกินไปอีกทั้งยังเป็นการฝึกให้เด็กได้รู้จักการรักษาเวลาอีกด้วย
  • มุ่งเน้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้เพื่อให้เด็กสามารถต่อยอดและใช้ทักษะในเรื่องของการใช้ความสัมพันธ์ของประสาททั้ง 5 กับวัตถุชิ้นนั้นได้เป็นอย่างดี
  • ครูผู้สอนต้องเรียนรู้ภาษาจากเด็กและให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากเพราะนี่คือสิ่งที่เด่นจะสะท้อนประสบการณ์รวมไปถึงความเข้าใจและความต้องการออกมาเป็นคำพูดโดยที่เด็กอาจจะเล่าเรื่องราวต่างๆและมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารทางความคิดโดยที่ภาษานั้นอาจจะไม่ประติดประต่อเป็นเรื่องราวขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงวัยแต่ครูผู้สอนจะต้องรู้และเข้าใจการสื่อสารและความหมายของเด็กได้อย่างถูกต้องและเมื่อครูเป็นผู้นำในการรับฟัง เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะรับฟังผู้อื่นและมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
  • รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปครูจะต้องเป็นผู้สนับสนุนและชี้แนะรวมทั้งคอยรับฟังและส่งเสริมให้เด็กได้คิดและทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองนอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้พบกับการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆผ่านประสบการณ์สำคัญมากมายในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติจนทำให้เกิดการเรียนรู้และทักษะใหม่ๆจากภายในห้องเรียนนั่นเอง